การให้ความรู้ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (2)
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม |
สิ่งแวดล้อมมีทั้งสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตเกิดจากการกระทำของมนุษย์หรือมีอยู่ตามธรรมชาติ เช่น อากาศ ดิน หิน แร่ธาตุ น้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง ทะเลสาบ ทะเล มหาสมุทร พืชพรรณสัตว์ต่าง ๆ ภาชนะเครื่องใช้ต่าง ๆ ฯลฯ สิ่งแวดล้อมดังกล่าวจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ โดยเฉพาะมนุษย์เป็นตัวการสำคัญยิ่งที่ทำให้สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงทั้งในทางเสริมสร้างและทำลาย
จะเห็นว่า ความหมายของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ต่างกันที่สิ่งแวดล้อมนั้นรวมทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฎอยู่รอบตัวเรา ส่วนทรัพยากรธรรมชาติเน้นสิ่งที่อำนวยประโยชน์แก่มนุษย์มากกว่าสิ่งอื่น
ประเภทของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ก. ทรัพยากรธรรมชาติ แบ่งตามลักษณะที่นำมาใช้ได้ 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1. ทรัพยากรธรรมชาติประเภทใช้แล้วไม่หมดสิ้น ได้แก่
1) ประเภทที่คงอยู่ตามสภาพเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เลย เช่น พลังงาน จากดวงอาทิตย์ ลม อากาศ ฝุ่น ใช้เท่าไรก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไม่รู้จักหมด
2) ประเภทที่มีการเปลี่ยนแปลงได้ เนื่องจากถูกใช้ในทางที่ผิด เช่น ที่ดิน น้ำ ลักษณะภูมิประเทศ ฯลฯ ถ้าใช้ไม่เป็นจะก่อให้เกิดปัญหาตามมา ได้แก่ การปลูกพืชชนิดเดียวกันซ้ำ ๆ ซาก ๆ ในที่เดิม ย่อมทำให้ดินเสื่อมคุณภาพ ได้ผลผลิตน้อยลงถ้าต้องการให้ดินมีคุณภาพดีต้องใส่ปุ๋ยหรือปลูกพืชสลับและหมุนเวียน
2. ทรัพยากรธรรมชาติประเภทใช้แล้วหมดสิ้นไป ได้แก่
1) ประเภทที่ใช้แล้วหมดไป แต่สามารถรักษาให้คงสภาพเดิมไว้ได้ เช่น ป่าไม้ สัตว์ป่า ประชากรโลก ความอุดมสมบูรณ์ของดิน น้ำเสียจากโรงงาน น้ำในดิน ปลาบางชนิด ทัศนียภาพอันงดงาม ฯลฯ ซึ่งอาจทำให้เกิดขึ้นใหม่ได้
2) ประเภทที่ไม่อาจทำให้มีใหม่ได้ เช่น คุณสมบัติธรรมชาติของดิน พร สวรรค์ของมนุษย์ สติปัญญา เผ่าพันธุ์ของมนุษย์ชาติ ไม้พุ่ม ต้นไม้ใหญ่ ดอกไม้ป่า สัตว์บก สัตว์น้ำ ฯลฯ
3) ประเภทที่ไม่อาจรักษาไว้ได้ เมื่อใช้แล้วหมดไป แต่ยังสามารถนำมายุบให้ กลับเป็นวัตถุเช่นเดิม แล้วนำกลับมาประดิษฐ์ขึ้นใหม่ เช่น โลหะต่าง ๆ สังกะสี ทองแดง เงิน ทองคำ ฯลฯ
4) ประเภทที่ใช้แล้วหมดสิ้นไปนำกลับมาใช้อีกไม่ได้ เช่น ถ่านหิน น้ำมันก๊าซ อโลหะส่วนใหญ่ ฯลฯ ถูกนำมาใช้เพียงครั้งเดียวก็เผาไหม้หมดไป ไม่สามารถนำมาใช้ใหม่ได้
ทรัพยากรธรรมชาติหลักที่สำคัญของโลก และของประเทศไทยได้แก่ ดิน ป่าไม้ สัตว์ป่า น้ำ แร่ธาตุ และประชากร (มนุษย์)
ข. สิ่งแวดล้อม
สิ่งแวดล้อมของมนุษย์ที่อยู่รอบ ๆ ตัว ทั้งสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ซึ่งเกิดจาก การกระทำของมนุษย์แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ
2. สิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรม หรือสิ่งแวดล้อมประดิษฐ์ หรือมนุษย์เสริมสร้างกำหนดขึ้น
สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ จำแนกได้ 2 ชนิด คือ
1) สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ได้แก่ อากาศ ดิน ลักษณะภูมิประเทศ ลักษณะ ภูมิอากาศ ทัศนียภาพต่าง ๆ ภูเขา ห้วย หนอง คลอง บึง ทะเลสาบ ทะเล มหาสมุทรและทรัพยากรธรรมชาติทุกชนิด
2) สิ่งแวดล้อมทางชีวภาพหรือชีวภูมิศาสตร์ ได้แก่ พืชพันธุ์ธรรมชาติต่าง ๆ สัตว์ป่า ป่าไม้ สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่อยู่รอบตัวเราและมวลมนุษย์
สิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรม หรือสิ่งแวดล้อมประดิษฐ์ หรือมนุษย์เสริมสร้างขึ้น ได้แก่ สิ่งแวดล้อมทางสังคมที่มนุษย์เสริมสร้างขึ้นโดยใช้กลวิธีสมัยใหม่ ตามความเหมาะสมของสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ศาสนา และวัฒนธรรม เช่น เครื่องจักร เครื่องยนต์ รถยนต์ พัดลม โทรทัศน์ วิทยุ ฝนเทียม เขื่อน บ้านเรือน โบราณสถาน โบราณวัตถุท อื่น ๆ ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ค่านิยม และสุขภาพอนามัย
สิ่งแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ซึ่งเกิดจากสาเหตุ 2 ประการ คือ
1) มนุษย์
2) ธรรมชาติแวดล้อม มนุษย์ เป็นตัวการเปลี่ยนแปลงสังคมเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง มากกว่าสิ่ง อื่น เช่น ชอบจับปลาในฤดูวางไข่ ใช้เครื่องมือถี่เกินไปทำให้ปลาเล็ก ๆ ติดมาด้วย ลักลอบตัดไม้ทำลายป่า เพื่อนำมาสร้างที่อยู่อาศัย ส่งเป็นสินค้า หรือเพื่อใช้พื้นที่เพาะปลูกปล่อยของเสียจากโรงงานและไอเสียจากรถยนต์ทำให้สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ (น้ำเน่า อากาศเสีย)
ธรรมชาติแวดล้อม ส่วนใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ เช่น แม่น้ำที่พัดพาตะกอนไปทับถมบริเวณน้ำท่วม และปากแม่น้ำต้องใช้เวลานานจึงจะมีตะกอนมาก การกัดเซาะพังทลายของดินก็เช่นเดียวกัน ส่วนการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนั้นเกิดจากแรงภายในโลก เช่น แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด อื่น ๆ ได้แก่ อุทกภัยและวาตภัย ไฟป่า เป็นต้น ซึ่งภัยธรรมชาติดังกล่าวจะไม่เกิดบ่อยครั้งนัก
สรุป มนุษย์เป็นตัวการสร้าง และทำลายสิ่งแวดล้อมมากกว่าธรรมชาติ ความสำคัญของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
สหรัฐอเมริกา ได้ส่งดาวเทียมสำรวจทรัพยากรโลก (Earth Resources Technology Satellite หรือ ERTS) ดวงแรกของโลกเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 ดาวเทียมนี้จะโคจรรอบโลกจากขั้วโลกเหนือไปทางขั้วโลกใต้รวม 14 รอบต่อวันและจะโคจรกลับมาจุดเดิมอีกทุก ๆ 18 วัน ข้อมูลที่ได้จากดาวเทียมจะมีทั้งรูปภาพและเทปสมองกลบันทึกไว้ ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติของโลก ส่วนประเทศไทยก็ได้รับข้อมูล และภาพที่เป็นประโยชน์ในด้านการเกษตร การสำรวจทางธรณีวิทยา ป่าไม้ การชลประทาน การประมง หลังจากที่สหรัฐส่งดาวเทียมดวงแรกได้1 ปีแล้ว ได้ส่งสกายแล็บ และดาวเทียมตามโครงการดังกล่าวอีก 2 ดวง ในปี พ.ศ. 2520 และ พ.ศ. 2522 นับว่ามีส่วนช่วยส่งเสริมพัฒนาความรู้ในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและการวางโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทุกชนิดบนพื้นโลก
ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ ป่าไม้ สัตว์ป่าและปลา น้ำ ดิน อากาศ แร่ธาตุ มนุษย์และทุ่งหญ้า
ทรัพยากรนันทนาการ |
นันทนาการ หมายถึง การกระทำใด ๆ ที่ทำให้เกิดความสุข ความพึงพอใจ สนุนสนาน เกิดความเลื่อมใสศรัทธา เสริมสร้างความรู้ และออกกำลังกาย การนันทนาการเปรียบเสมือนอาหารใจที่ทำให้คนเกิดความสมบูรณ์ทางด้านสมองและจิตใจ ดังนั้นการนันทนาการจึงมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าอาหารที่มนุษย์รับประทานเข้าไป
จากการที่มนุษย์ต้องตรากตรำทำงานหนักตลอดทั้งวันหรือสัปดาห์ จะทำให้ร่างกายเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า สมองตึงเครียด และเบื่อหน่ายต่องานที่ทำ จึงจำเป็นที่ต้องหาเวลาพักผ่อนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานในการทำงานให้ดียิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้จากวันสิ้นสุดสัปดาห์หรือวันหยุดเทศกาลต่าง ๆ
ประชาชนชาวเมืองจะเดินทางออกไปพักผ่อนในชนบทที่อยู่ห่างไกลออกไป ในขณะที่คนในชนบทจะหลั่งไหลกันเข้าเมืองเพื่อพักผ่อนตามโรงภาพยนตร์ หรือแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและเลือกซื้อสินค้าตามศูนย์การค้าต่าง ๆ อย่างไรก็ตามการนันทนาการอาจจะทำได้หลายวิธีทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรสนิยม ความถนัด และความต้องการ
ในสภาพปัจจุบันสถานที่นันทนาการจะเพิ่มความสำคัญมากยิ่งขึ้น เพราะการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร ความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี และมีเวลาว่าง จึงทำให้การเดินทางท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อนกระทำได้ไกลจากถิ่นที่อยู่มาก ซึ่งทำให้สถานที่นันทนาการทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่อยู่ห่างไกลออกไปจากย่านชุมชน มีผู้เข้าไปใช้บริการมากยิ่งขึ้น เอกชนบางแห่งได้หันมาลงทุนเพื่อดำเนินการทำธุรกิจทางด้านนันทนาการเป็นจำนวนมาก เป็นต้นว่า การจัดสร้างสวนสนุก สวนสัตว์ โรงภาพยนตร์ ศูนย์การค้า รีสอร์ต การบริการทางด้านการขนส่ง และสนามกีฬา ซึ่งธุรกิจเหล่านี้นอกจากจะทำรายได้ให้กับผู้ประกอบการอย่างดีแล้วยังช่วยในการสร้างงานให้กับประชาชนโดยทั่วไปอีกด้วย
การนันทนาการจะทำได้หลายลักษณะ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเพศ วัย และความสนใจของแต่ละบุคคล ถ้าหากจะจัดชนิดของการนันทนาการตามหลักสากลแล้ว อาจจะแบ่งออกได้ 4 กลุ่มใหญ่ ๆ ด้วยกันคือ การกีฬา การออกกำลังกาย เพื่อศึกษาหาความรู้ และเปลี่ยนบรรยากาศ
ความสำคัญของสถานที่นันทนาการ
สถานที่ที่่ใช้นันทนาการ สามารถมีหลายสถานที่เช่น สนามกีฬา สนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ สวนสัตว์ พิพิธภัณฑ์ โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ วัด โรงมหรสพ ศูนย์การค้า เป็นต้น สถานที่ดังกล่าว เป็นแหล่งความรู้ เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ นอกจากนี้ยังเป็นการนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และช่วยในการสร้างงานในท้องถิ่น
สถานที่นันทนาการนับว่าเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ายิ่ง และเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำการบำรุงรักษาไว้ ทั้งนี้เพราะสถานที่นันทนาการจะเสื่อมสภาพไปตามกาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานที่นันทนาการทางวัฒนธรรม แม้แต่สถานที่นันทนาการทางธรรมชาติ เช่น ทะเลสาบ ชายหาด ถ้ำ น้ำตกและอื่น ๆ เมื่อมีผู้เข้าไปใช้บริการมาก ๆ จะทำให้เสื่อมโทรมและสกปรกได้เช่นเดียวกัน ถ้าหากไม่มีการบำรุงรักษาอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ
ทรัพยากรธรรมชาติ
ในอดีต ประเทศไทยเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติทั้งบนบกและในน้ำ การเร่งรัดพัฒนาประเทศที่เริ่มต้นเมื่อกว่าสามสิบปีมาแล้ว โดยมิได้ระมัดระวังและให้ความสำคัญต่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติเท่าที่ควร ทำให้มีการตักตวง ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลืองมิได้คำนึงถึงอัตราการเกิดทดแทนหรือการฟื้นตัวตามธรรมชาติ ดังนั้นในปัจุบันทรัพยากรธรรมชาติของประเทศจึงอยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรม สร้างข้อจำกัดของการพัฒนาในระยะต่อไป ในขณะนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่าย ทั้งส่วนราชการและเอกชนจะต้องหันมาสนใจ และร่วมมือกันเพื่อจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างจริงจัง ให้สามารถใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของประชาชน ทั้งในเมืองและในชนบท และการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนตลอดไปตามหลักวิชาการ จัดประเภททรัพยากรธรรมชาติ ออกเป็น 3 ประเภท ที่สำคัญดังนี้
๑. ทรัพยากรที่ใช้แล้วไม่หมด หรือสูญหายไป เราสามารถใช้ทรัพยากรประเภทนี้ได้อย่างไม่จำกัด เนื่องจากธรรมชาติสร้างให้มีใช้อยู่ตลอดเวลา ได้แก่ บรรยากาศน้ำที่อยู่ใน วัฎจักร ซึ่งเกิดจากการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงของน้ำ กล่าวคือ เมื่อน้ำตามที่ต่างๆ ได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์ ก็จะระเหยกลายเป็นไอน้ำลอยขึ้นไปบนบรรยากาศเมื่อกระทบกับความเย็นก็จะ รวมตัวเป็นละอองน้ำเล็กๆ ลอยจับตัวกันเป็นกลุ่มเมฆ เมื่อจับตัวกันมากขึ้นและกระทบกับความเย็น ก็จะกลั่นตัวกลายเป็นหยดน้ำตกลงสู่พื้นโลก แล้วไหลลงสู่แม่น้ำ ลำธาร และไหลออกสู่ทะเล เป็นลักษณะของการเปลี่ยนแปลงหมุนเวียนต่อเนื่องกันตลอดเวลา ทำให้มีน้ำเกิดขึ้นบนผิวโลกอยู่สม่ำเสมอทรัพยากรประเภทนี้รวมทั้งแสงแดด ลม และทัศนียภาพที่สวยงามตามธรรมชาติ อีกด้วย
๒. ทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดแต่สร้างทดแทนได้ ตัวอย่างเช่น ป่าไม้ ดิน ที่ดิน แหล่งน้ำ ทุ่งหญ้า และสัตว์ป่า เป็นต้น ทรัพยากรประเภทนี้เมื่อใช้แล้วจะสามารถสร้างขึ้นมาทดแทนได้ตามธรรมชาติของสิ่งนั้นๆ อย่างไรก็ดีการใช้ประโยชน์ก็ต้องเป็นไปอย่างเหมาะสม ไม่ควรใช้มากเกินต้องการและเกินกว่าที่ธรรมชาติ จะสร้างขึ้นมาทดแทนได้ มิฉะนั้นทรัพยากรชนิดนั้นก็จะร่อยหรอ เสื่อมโทรมลง และสูญสิ้นไป การเสื่อมโทรมและสูญสิ้นก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรชนิดอื่นๆ ที่มีความสัมพันธ์ และอยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกัน
๓. ทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป ไม่มีการสร้างทดแทนได้ เช่น แร่น้ำมัน ที่ดิน ในสภาพธรรมชาติ แหล่งที่เหมาะสมสำหรับศึกษาธรรมชาติแหล่งธรรมชาติที่หาดูได้ยาก แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว รวมทั้งสภาพธรรมชาติใดๆ ที่ถูกใช้ไปแล้วก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้เหมือนเดิมอีก เช่น แร่ธาตุ น้ำมัน เมื่อนำมา ใช้ประโยชน์ก็จะหมดสิ้นไป โดยธรรมชาติไม่อาจจะสร้างขึ้นทดแทนได้ในชั่วอายุของคนรุ่นปัจจุบันทรัพยากรประเภทนี้ควรใช้โดยประหยัดที่สุด คุ้มค่า และไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ทรัพยากรประเภทที่ดินสวยงามในสภาพธรรมชาติ เช่น แพะเมืองผี ที่จังหวัดแพร่ เกิดจากการกัดกร่อนตามธรรมชาติ ทำให้มีรูปร่างลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวผู้ไปเยี่ยมชมมากมาย เราจึงควรช่วยกันดูแลรักษาไว้ ให้คงสภาพตามธรรมชาติให้นานที่สุด
การพัฒนา
การพัฒนา คือ การเปลี่ยนแปลงชีวาลัย (Biosphere) อันเป็นบริเวณที่เป็นส่วนหนึ่งของโลกที่สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ ได้แก่ บริเวณที่เป็นมหาสมุทร ที่ซึ่งมีน้ำจืด บรรยากาศและชั้นดินบางส่วน โดยการใช้ทรัพยากรมนุษย์ ทรัพย์สินเงินทอง ทรัพยากรที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ และปรับปรุงชีวิตมนุษย์ให้มีคุณภาพ
http://www.school.net.th/library/snet6/envi5/que/que.htm
ร้อยวิธีดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม |
1. ใช้ผ้าแทนกระดาษทิชชู
เราใช้กระดาษทิชชูเช็ดมือ เช็ดหน้า ปีละหลายล้านฟุต ซึ่งหมายถึง การโค่นต้นไม้ลงจำนวนมหาศาล ช่วยกันลดการใช้กระดาษทิชชูด้วยการวางผ้ามือไว้ใกล้อ่างล้างมือ แล้วใช้ผ้าเช็ดโต๊ะแทนการใช้กระดาษทิชชูเช็ด
2. ใช้ถุงพลาสติกซ้ำหลาย ๆ ครั้ง
ประหยัดถุงพลาสติกได้โดยการใช้ซ้ำหลาย ๆ ครั้ง หากถุงพลาสติกสกปรก ก็ให้ทำความสะอาดแล้วแขวนไว้ให้แห้ง เพื่อส่งกลับเข้าโรงงานสำหรับผลิตใหม่
3. แยกทิ้งเศษกระดาษจากขยะอื่น
โปรดหลีกเลี่ยงการทิ้งเศษกระดาษลงในถังกับขยะอื่น ๆ เพราะจะทำให้กระดาษเปรอะเปื้อนไขมัน และเศษอาหารจะทำให้เศษกระดาษนั้นนำไปผลิตใหม่อีกไม่ได้
4. กระดาษที่นำไปรีไซเคิลไม่ได้
กระดาษที่ไม่สามารถนำไปเข้ากระบวนการผลิตใหม่เป็นกระดาษใช้ได้อีก ได้แก่ กระดาษที่เคลือบด้วยขี้ผึ้ง กระดาษที่เข้าเล่มด้วยกรรมวิธีการละลายโดยใช้ความร้อน เช่น สมุดโทรศัพท์ นิตยสารต่าง ๆ ตลอดจนกระดาษที่ถูกเปรอะเปื้อนด้วยการชนิดที่ไม่ละลายน้ำ
5. หนังสือพิมพ์สามารถแก้ไขปัญหา ขยะกระดาษ
แหล่งสร้างขยะกระดาษที่สำคัญก็คือหนังสือพิมพ์ หน้าที่เป็นขยะกระดาษโดย ผู้อ่านไม่ได้อ่าน ก็คือหน้าโฆษณาธุรกิจ ซึ่งมีอยู่ฉบับละหลาย ๆ หน้า ซึ่งแม้ว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับหนังสือพิมพ์ แต่ ควรคำนึงว่า นั่นคือ การทำลายกระดาษสะอาด และสร้างขยะกระดาษให้เกิดขึ้นจำนวนมหาศาลในแต่ละวัน
6. เศษหญ้ามีประโยชน์
เศษหญ้าที่ถูกทิ้งอยู่บนสนามนั้น สามารถให้ประโยชน์ต่อสนามหญ้าได้มาก เพราะในเศษหญ้านั้น มีธาตุอาหาร ที่มีคุณค่าเทียบเท่ากับปุ๋ย ที่ใช้ใส่หญ้าทีเดียว
7. วิธีตัดกิ่งไม้
วิธีการตัดกิ่งก้านของต้นไม้ ไม้พุ่มใบไม้ ควรตัดให้เป็นเศษเล็กเศษน้อย เพื่อช่วยลดเศษขยะให้กับสวนได้ และทั้งยังช่วยให้เกิดการเน่าเปื่อยขึ้นกับเศษใบไม้นั้นเร็วขึ้นด้วย
8. ใช้เศษหญ้าคลุมไม้ใหญ่
เศษหญ้าที่ตัดจากสนามและสวนนั้น สามารถนำไปคลุมต้นไม้ใหญ่ได้ การใช้เศษหญ้าปกคลุมพืชในสวนจะช่วยในการกำจัดวัชพืชได้เพราะวัชพืช จะไม่สามารถแทงลำต้นผ่านเศษหญ้าได้ นอกจากนี้เมล็ดของวัชพืชที่ร่วงหล่นก็ไม่อาจหยั่งรากทะลุผ่านเศษใบไม้ได้ด้วย
9. ประโยชน์ของพลาสติกช่วยถนอมอาหาร
พลาสติกทุกชนิดหากถูกไฟไหม้ จะก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศที่เป็นอันตราย ได้มีการรณรงค์ให้เลิกใช้พลาสติก แต่จริง ๆ แล้ว พลาสติกยังคงมีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวันโดยเฉพาะพลาสติก มีประโยชน์ในการถนอมอาหารให้สดอยู่ได้ เป็นเวลานาน ๆ
10. พลาสติกรีไซเคิล
ปัจจุบันมีบริษัทกว่า 200 แห่ง ในอุตสาหกรรมการผลิตพลาสติกได้ทำการรีไซเคิลพลาสติก จำนวน 20% จากขวดเครื่องดื่ม
พลาสติกที่ทำจาก Polyethylene Terephthalate หรือ PET จะถูกนำไปรีไซเคิล เป็นด้ามเครื่องจับไฟฟ้า กระเบื้องปูพื้น เส้นใยสังเคราะห์ในหมอน ถุงนอน หรือใช้บุเสื้อแจ็คเก็ต
11. พลาสติกรีไซเคิล (2)
ภาชนะพลาสติกที่ใส่น้ำผลไม้และนมนั้นทำมาจากพลาสติกชนิด Polyethylene ที่มีความเข้มข้นมากเมื่อใช้แล้วได้ถูกนำมารีไซเคิลทำเป็นท่อพลาสติก กระถางต้นไม้ เก้าอี้พลาสติก
12. วิธีเก็บขวดแก้วที่ใช้แล้ว
ขวดแก้วทุกชนิดที่บรรจุของเมื่อใช้แล้วควรทำความสะอาด และแยกชนิดของแก้ว และแยกสีของแก้วด้วย
13. วิธีเก็บกระป๋องอลูมิเนียมที่ใช้แล้ว
นำกระป๋องอลูมิเนียมที่ใช้แล้วมาบี้ให้แบนก่อนทิ้ง หรือขายแก่คนรับซื้อเศษโลหะ
14. น้ำสะอาดมาจากน้ำใต้ดิน
น้ำสะอาดที่เราใช้ประโยชน์ดื่มกิน ส่วนใหญ่ มาจากน้ำใต้ดิน การทิ้งขยะบนพื้นผิวดินทำให้มีผลถึงน้ำใต้ดิน เพราะน้ำฝนจะชะความเป็นพิษและความโสโครกให้ซึมลงไปถึงชั้นน้ำใต้ดินทำให้น้ำใต้ดินเน่าเสียและเป็นพิษได้
15. วิธีล้างรถยนต์
ล้างรถยนต์ด้วย ฟองน้ำ และใช้ถังน้ำจะใช้น้ำเพียง 15 แกลลอน แต่ถ้าล้างด้วยสายยางจะต้องสูญเสียน้ำถึง 150 แกลลอน
16. ดูแลรักษารถด้วยการเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง
การดูแลรักษารถจะต้องทำอย่างสม่ำเสมอได้แก่ การเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง ตามระยะเวลาที่ระบุไว้ในคู่มือและทุกครั้งที่เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ควรเปลี่ยนไส้กรองด้วย
17. รักษารถ ด้วยการเปลี่ยนไส้กรอง
ไส้กรองอากาศที่สกปรก จะทำให้การไหลของอากาศที่สะอาดทำได้น้อยลง มีผลต่อการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ด้วย
18. รักษารถ ช่วยลดมลพิษ
การดูแลรักษารถจะทำให้รถสามารถวิ่งได้เพิ่มขึ้นอีก 10% ของจำนวนไมล์ ซึ่งเท่ากับสามารถลดราคาเชื้อเพลิงลงได้ถึง 10% เช่นกัน การลดการใช้เชื้อเพลิงลงก็เท่ากับเป็นการช่วยลดมลพิษทางอากาศให้กับโลกได้ด้วย
19. ยางรถยนต์ ช่วยประหยัดน้ำมัน
การเติมลมยางรถ ให้พอดีและขับรถตามข้อกำหนดความเร็ว จะช่วยในการประหยัดน้ำมันได้
20. วิธีป้องกันการรั่วไหลของน้ำมันเครื่อง
การป้องกันการรั่วไหลของน้ำมันเครื่องจากตัวถังรถยนต์ สามารถทำได้ด้วยการปิดสลักเกลียวในเครื่องยนต์ทุกตัวให้แน่น โดยเฉพาะในส่วนที่ซึ่งน้ำมันเครื่องรั่วไหลออกไปได้
ช่วยป้องกันการรั่วไหลของน้ำมันเพื่อลดมลพิษให้กับอากาศของเรา
21. ควรเปลี่ยนน้ำมันเครื่องเมื่อไหร่
ควรเปลี่ยนน้ำมันเครื่องเมื่อขับรถได้ทุก ๆ ระยะ 3,000-4,000 ไมล์ และควรเลือกใช้ไส้กรองที่ดีที่สุดด้วย
22. การเพิ่มออกซิเจนในน้ำมัน
วิธีการหนึ่งที่จะช่วยลดมลพิษให้กับรถยนต์ ก็คือ การเพิ่มส่วนผสมของออกซิเจนในน้ำมัน ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการเกิดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ได้เป็นจำนวนมาก
23. อันตรายจากก๊าซเรดอน
ก๊าซเรดอน เป็นก๊าซกัมมันตภาพรังสี มักพบแทรกอยู่ในดินและหิน มีคุณสมบัติที่สามารถซึมผ่านขึ้นมาบนผิวดิน และกระจายออกสู่อากาศได้โดยผ่านทางรอยร้าวและโพรงของคอนกรีตบล็อค ตามท่อ ก๊าซเรดอนเป็นก๊าซที่เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ
24. พิษของก๊าซเรดอนต่อร่างกาย
ก๊าซเรดอนเป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่อของปอด การได้รับสารกัมมันตภาพรังสีจากก๊าซเรดอนติดต่อกันนานกว่า 20-30 ปี จะทำให้เกิดเป็นมะเร็งที่ปอดได้
25. วิธีป้องกันอันตรายจากก๊าซเรดอน
การป้องกันอันตรายจากก๊าซเรดอน ทำได้โดยการไม่สูบบุหรี่ในบ้าน หรือในห้องที่มีอากาศถ่ายเทได้น้อย เปิดหน้าต่างให้มีการถ่ายเทระหว่างอากาศภายในบ้านกับอากาศนอกบ้านทุก ๆ วัน
26. ปลูกต้นไม้ในห้องช่วยลดมลพิษ
ปลูกต้นไม้ในห้อง โดยปลูกไม้กระถางผสมถ่านกับดิน ถ่านจะเป็นตัวช่วยดูดซับสารมลพิษและจุลินทรีย์ภายในห้องได้
27. พิษภัยของฝุ่นฝ้าย
ฝุ่นฝ้ายในโรงงานอุตสาหกรรมเป็นต้นเหตุของการเกิดโรคปอดอักเสบ โดยฝุ่นฝ้ายจะเข้าไปทำให้เกิดอาการแน่นหน้าอกและหัวใจ
โปรดป้องกันตนเองจากฝุ่นฝ้ายด้วยการใช้อุปกรณ์ป้องกันในการหายใจ
28. วิธีใช้น้ำยาทำความสะอาดครัวเรือน
มีสารเคมีมากกว่า 63 ชนิด ที่ใช้เป็นส่วนผสมอยู่ในน้ำยาทำความสะอาดครัวเรือน เช่น น้ำยาถูพื้น น้ำยาขัดห้องน้ำ
โปรดอ่านคำแนะนำในฉลากก่อนใช้ทุกครั้ง เพื่อป้องกันตัวเองให้พ้นจากพิษภัยอันตราย
29. เก้าอี้พลาสติกรีไซเคิล
เก้าอี้พลาสติกส่วนใหญ่ผลิตขึ้นใหม่จากพลาสติที่ใช้แล้ว เช่น เก้าอี้พลาสติกที่มีขนาดความยาว 6 ฟุต นั้น ทำมาจากถังพลาสติก ที่ใช้บรรจุนมเป็นจำนวนถึง 1050 ใบ
30. รักษาสิ่งแวดล้อมเริ่มต้นที่ใกล้ตัว
ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนั้น เราไม่จำเป็นต้องเดินทางไปจนถึงพื้นที่ป่าใหญ่ เพื่อปลูกป่า แต่เราสามารถเริ่มต้นอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลายได้ในพื้นที่ใกล้บ้านเราเอง
31. พืชท้องถิ่นมีความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม
พืชดั้งเดิมของท้องถิ่นมีความสำคัญต่อระบบนิเวศวิทยา และมีความเหมาะสมกับสภาพอากาศและดินมากกว่าพืชที่นำเข้ามาจากที่อื่น ๆ
ดังนั้น เราจึงควรต้องช่วยกันป้องกันและอนุรักษ์พืชท้องถิ่นไว้ไม่ให้สูญพันธุ์
32. รถยนต์ผลิตคาร์บอนไดออกไซด์
ทุก ๆ ปี รถยนต์คันหนึ่ง ๆ จะผลิต ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ออกมาสู่บรรยากาศโลกได้ในปริมาณที่มีน้ำหนักเท่ากับตัวรถเอง
33. น้ำมันก๊าซโซลีนเผาไหม้เกิดเป็นคาร์บอนไดออกไซด์
ทุก ๆ แกลลอน ของก๊าซโซลีนในรถยนต์ที่ถูกเผาไหม้จะทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จำนวนถึง 9000 กรัม กระจายขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศโลก
34. ปรากฏการณ์เรือนกระจก
การเผาไหม้เชื้อเพลิง จากเชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิด ภาวะปรากฏการณ์เรือนกระจกขึ้น หากสามารถเปลี่ยนไปใช้พลังงานจากแหล่งอื่น เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ก็จะช่วยลดอุณหภูมิความร้อนที่เกิดขึ้นกับโลกได้
35. ผลิตภัณฑ์ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์
ผลิตภัณฑ์ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ที่แพร่หลายมากที่สุด คือ เครื่องคิดเลขที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งในแต่ละปี ผลิตออกจำหน่ายถึงกว่า 2,000,000 เครื่อง
36. การลดการใช้สำคัญกว่าการผลิตใช้ใหม่
การนำของที่ใช้แล้วมาผลิตใช้ใหม่ อาจไม่ใช่การแก้ปัญหาที่สำคัญเพราะความสำคัญไม่ได้อยู่ที่วิธีการนำพลาสติกที่ใช้แล้วกลับมาผลิตใช้ใหม่ได้อีก แต่สำคัญตรงที่เราควรจะหาวิธีลดการใช้พลาสติกให้น้อยลงต่างหาก
37. ผักปลอดสารพิษ
เมื่อใดก็ตามที่ได้ลงมือทำสวนครัวด้วยตนเอง เมื่อนั้นเราจึงจะเชื่อมั่นได้อย่างแน่นอนว่า เรากำลังมีโอกาสได้กินพืชผักที่ปลอดจากยาฆ่าแมลงแล้วจริง ๆ
38. สวนสาธารณะของเมือง
สวนสาธารณะนอกจากจะช่วยรักษาพื้นที่สีเขียวแล้ว ยังทำให้มีพื้นที่โล่งว่างขึ้นในท่ามกลางตึกอาคารสิ่งก่อสร้างที่เติบโตอย่างแออัดในเมืองใหญ่
สวนสาธารณะไม่เพียงจะช่วยให้อากาศบริสุทธิ์ แต่ยังเป็นสัญญลักษณ์จากธรรมชาติให้ผู้คนได้ตระหนักว่า เมืองมิใช่เป็นที่ตั้งของถนน อาคารระฟ้า และรถยนต์ เท่านั้น แต่ควรจะเป็นที่อยู่ของธรรมชาติด้วย
39. ดื่มน้ำสะอาดให้หมดแล้ว
ดื่มน้ำสะอาดให้หมดแก้วทุกครั้งอย่าเหลือทิ้ง เพราะน้ำสะอาดมีเหลืออยู่น้อยในโลกนี้ และกระบวนการทำน้ำให้สะอาดก็ต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายมากขึ้นอยู่ตลอดเวลา
40. สมุนไพรแก้กลิ่นอับ
ในห้องที่มีกลิ่นอับ ให้ใช้สมุนไพรแห้ง หรือเครื่องหอมจากดอกไม้แห้ง ห่อด้วยเศษผ้าที่โปร่งบางแขวนไว้ในห้องที่มีกลิ่นอับ จะช่วยให้ห้องหายจากกลิ่นอับได้
41. ปิดเตาอบก่อนอาหารสุก
ทุกครั้งที่ปรุงอาหารด้วยเตาอบ ให้ปิดเตาอบก่อนอาหารสุกประมาณ 2-3 นาที เพราะความร้อนในเตาอบจะยังคงมีอยู่อย่างเพียงพอที่จะทำให้อาหารสุก
42. วิธีดูแลรักษาพรม
ดูแลรักษาพรมที่ปูพื้นให้สะอาดด้วยการดูดฝุ่น อย่างสม่ำเสมอ และในการกำจัดกลิ่นพรม ก็จะต้องใช้ผงเบกกิ้งโซดา (Baking Soda) โรยให้ทั่วพื้นพรม แล้วทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที จึงทำการดูดฝุ่น จะทำให้พรมปลอดจากกลิ่นได้
43. การทำความสะอาดเฟอร์นิเจอร์
การทำความสะอาดเฟอร์นิเจอร์ ทำได้ด้วยวิธีง่าย ๆ โดยใช้ผ้าบาง ๆ ชุบน้ำผสมสบู่ บิดให้หมาดแล้วใช้เช็ดถูเฟอร์นิเจอร์ จากนั้นใช้ผ้าแห้งซ้ำอีกครั้ง
44. กระดาษใช้แล้วนำมาผลิตใช้ใหม่
การนำกระดาษที่ใช้แล้ว กลับมาผลิตใช้ใหม่ ในจำนวนทุก ๆ 1 ตันนั้น เป็นการช่วยอนุรักษ์ต้นไม้ได้ถึง 17 ต้น
45. หมั่นปัดฝุ่นจากหลอดไฟ
ให้หมั่นปัดฝุ่นจากหลอดไฟเสมอ ๆ เพราะฝุ่นและความสกปรกบนส่วนที่เป็นแก้ว จะลดความสว่างของแสงที่ส่องจากหลอดไฟ ลงไปถึง 33 เปอร์เซ็นต์ทำให้แสงจากหลอดไฟไม่สว่างเท่าที่ควร
46. คุณค่าของต้นไม้ที่มีอายุกว่า 50 ปี
ต้นไม้ทุกต้นที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ขึ้นไป มีคุณค่าในการทำให้อากาศบริสุทธิ์ ควบคุมการกัดเซาะผิวดินและน้ำป่า ปกป้อง คุ้มครองชีวิตของสัตว์ป่าและสามารถควบคุมมลภาวะ ในอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง
47. ต้นไม้ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ต้นไม้ที่อยู่ในสภาพสภาวะสมบูรณ์ สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากอากาศได้ถึง 40 ปอนด์ ในเวลา 1 ปี
48. พลังงานจากแก้วรีไซเคิล
พลังงานที่ได้จากการนำแก้วที่ใช้แล้วมาผลิตใช้ใหม่ 1 ใบ นั้น เทียบได้เท่ากับพลังงานของหลอดไฟ 60 วัตถ์ ที่ส่องสว่างได้เป็นเวลานานถึง 4 ชั่วโมง
49. พลังงานจากกระป๋องรีไซเคิล
พลังงานที่ได้จากการนำกระป๋องอลูมิเนียมที่ใช้แล้วมาผลิตใช้ใหม่ 1 ใบนั้น เทียบเท่าได้กับพลังงานแสงสว่างที่ใช้กับทีวีเป็นเวลานานถึง 3 ชั่วโมง
50. เวลาที่ควรรดน้ำต้นไม้
การรดน้ำต้นไม้ระหว่างเวลา 9 โมงเช้า จนถึง 5 โมงเย็น ปริมาณน้ำที่รดจะสูญเสียไปในการระเหยมากถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนน้ำที่รด ดังนั้นเวลาที่ควรรดน้ำต้นไม้ที่ดีที่สุด คือ เวลา หลัง 6 โมงเย็น หรือก่อน 9 โมงเช้า
51. เงาต้นไม้ประหยัดพลังงาน
เงาของต้นไม้ช่วยลดความต้องการเครื่องปรับอากาศลงได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ และในฤดูร้อนต้นไม้จะทำให้เมืองเย็นลงถึง 15 เปอร์เซ็นต์
52. คุณทำอย่างไรกับใบไม้ที่กวาดแล้ว
การเผาเศษใบไม้ทุก ๆ 1 ตัน จะทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ถึง 117 ปอนด์ ฝุ่น 41 ปอนด์ และคาร์ซิโนเจน 7 ปอนด์ หรือมากกว่านั้น เศษใบไม้ที่กวาดแล้วควรนำมาทำปุ๋ยหมักหรือสุมไว้โคนต้นไม้ เพื่อให้ย่อยสลายเป็นปุ๋ย ต่อไป
53. หลอดไฟฟ้าประหยัดพลังงาน
การใช้หลอดไฟฟ้าแบบประหยัดพลังงาน 1 หลอด แทนการใช้หลอดไฟฟ้าแบบฟลูออเรสเซนต์ จะช่วยประหยัดพลังงานได้เป็นปริมาณเท่ากับ ถ่านหินหนัก 600 ปอนด์ ตลอดชั่วอายุของหลอดไฟฟ้าตลอดนั้น
54. วิธีลดมลพิษจากรถยนต์
วิธีการหนึ่งที่จะช่วยลดมลพิษจากรถยนต์ ก็คือการเพิ่มส่วนผสมของออกซิเจนในน้ำมัน การเพิ่มออกซิเจนในน้ำมันก็เพื่อช่วยลดปริมาณการเกิดของก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ให้ลดน้อยลง
55. ทำอย่างไรกับน้ำมันเครื่องที่ใช้แล้ว
น้ำมันเครื่องที่ใช้แล้วจากรถยนต์ จะก่อมลภาวะให้เกิดกับแหล่งน้ำ และผิวดินได้หากมีการกำจัดที่ไม่เหมาะสม ทุกครั้งที่เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ให้ถ่ายเทน้ำมันเครื่องที่ใช้แล้วลงในภาชนะที่ปิดฝา แล้วส่งคืนให้กับสถานีบริการ
56. มลพิษจากเตาแก๊ส
แหล่งมลพิษของอากาศในบ้านที่สำคัญ ก็คือ เตาแก๊สในห้องครัวที่ไม่มีช่องหรือระบบระบายอากาศ จะเป็นแหล่งสะสมของก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ และคาร์บอนมอนอกไซด์ที่เกิดจากเตาแก๊ส
สารมลพิษในห้องครัวจะลดลงได้ด้วยการระบายอากาศที่ดี
57. วิธีปลูกต้นไม้ในอาคาร
การปลูกต้นไม้ไว้ในอาคาร วิธีการที่เหมาะสมคือ การปลูกลงในกระถางที่ผสมถ่านกับดินไว้ด้วยกัน ถ่านจะเป็นตัวช่วยดูดซับสารมลพิษ และจุลินทรีย์ได้
58. ทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศ
ในอาคารที่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ จะต้องทำความสะอาดแผ่นกรองอากาศบ่อย ๆ และไม่ควรใช้ยากำจัดกลิ่นหรือแอร์เฟรชเชอเนอร์
59. ถอดรองเท้าก่อนเข้าบ้าน
ทุกครั้งก่อนจะเข้าบ้าน ต้องถอดรองเท้าไว้ที่หน้าประตูบ้าน จะต้องไม่ใส่รองเท้าเข้าบ้าน เพราะพื้นรองเท้าเป็นที่รวมของสารพิษทั้งหลาย ที่เราไปเหยียบย่ำมาจากที่ต่าง ๆ
60. สัดส่วนของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ
โดยสัดส่วนความสมดุลย์ของธรรมชาติ จะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อยู่เป็นประมาณ 0.03% ของบรรยากาศ
ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทำหน้าที่ดูดซับพลังงานจากดวงอาทิตย์ไว้ ทำให้โลกมีความอบอุ่นที่พอเหมาะ
61. ทำไมโลกจึงร้อนขึ้น
กิจกรรมทั้งหลายของมนุษย์ได้เป็นสาเหตุของการเพิ่มความร้อนให้กับโลก ได้แก่ การเผาผลาญน้ำมันเชื้อเพลิง การเผาป่าเขตร้อนของโลก ได้ทำให้ปริมาณของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ในบรรยากาศ โลกจึงร้อนขึ้น
62. วิธีหยุดความร้อนให้กับโลก
เราสามารถหยุดยั้งการเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยการลดการใช้พลังงานที่ก่อให้เกิดความร้อนให้น้อยลง และต้องหยุดการเผาทำลายป่าลงให้ได้ ณ ทุกหนทุกแห่งของพื้นพิภพนี้
63. ปลูกป่าเพื่อให้โลกร่มเย็น
เพื่อให้โลกเย็นลง เราทุกคนจะต้องช่วยกันปลูกป่าคลุมพื้นที่ว่างเปล่าให้ได้มากที่สุด เพราะป่าเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดีที่สุดของโลก
64. สารอันตรายในถ่านอัลคาไลน์
ถ่านอัลคาไลน์เป็นถ่านที่ใช้ใส่กล้องถ่ายรูป ไฟฉาย นาฬิกา เครื่องคิดเลขที่ใช้ได้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้งจัดเป็นของเสียที่เป็นอันตรายเพราะมีส่วนประกอบของสารอันตราย ได้แก่ แมงกานีส สังกะสี และปรอท
65. การเลือกใช้ถ่านแคดเมี่ยมแทนถ่านอัลคาไลน์
ควรเลือกใช้ถ่านแคดเมี่ยมแทนการใช้ถ่านอัลคาไลน์ เพราะถ่านแคดเมี่ยมเมื่อใช้หมดแล้วสามารถนำมาชาร์ตไฟใหม่ใช้ได้อีก ในขณะที่ถ่านอัลคาไลน์ใช้ได้เพียงครั้งเดียวก็ต้องทิ้ง
66. อ่านคำอธิบายก่อนใช้
ก่อนใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของสารเคมีอันตราย ควรอ่านคำอธิบายให้เข้าใจก่อนใช้ทุกครั้ง และต้องปฏิบัติตามคำแนะนำการใช้อย่างเคร่งครัดเพื่อความปลอดภัยต่อชีวิต ของตัวเอง
67. การเลือกซื้ออาหารกระป๋อง
ทุกครั้งที่เลือกซื้ออาหารกระป๋อง จะต้องตรวจหาวันหมดอายุที่บอกไว้บนภาชนะบรรจุสินค้านั้น ๆ และควรซื้ออาหารกระป๋องที่ยังไม่หมดอายุเท่านั้น
68. อันตรายจากอาหารกระป๋องที่หมดอายุ
อย่าซื้ออาหารกระป๋องที่หมดอายุแล้ว เพราะอาหารกระป๋องที่หมดอายุแล้วจะเป็นสาเหตุของพิษภัยอันตรายต่อร่างกาย เช่น มะเร็งที่ตับ
โปรดระมัดระวังทุกครั้งที่ซื้ออาหารกระป๋อง เพราะที่หมดอายุแล้ว มักถูกนำมาลดราคาให้ถูกนำชวนซื้อ
69. แอมโมเนียในน้ำยาซักล้าง
ในน้ำยาซักล้างทุก ๆ ชนิด เช่น น้ำยาล้างกระจก น้ำยาย้อมผม น้ำยาทำความสะอาดห้องน้ำ จะมีส่วนประกอบของแอมโมเนียอยู่ด้วย โปรดใช้อย่างระมัดระวังทุกครั้ง เพราะแอมโมเนียมีผลโดยตรงต่อระบบทางเดินหายใจ
70. สารฟอร์มาลดีไฮด์
ในไม้อัด เสื้อผ้าใหม่ ๆ และน้ำยาล้างเล็บ จะมีสารฟอร์มาลดีไฮด์ เป็นสารประกอบอยู่ด้วย สารฟอร์มาลดีไฮด์จะมีผลต่อระบบทางเดินหายใจ ฉะนั้นโปรดระมัดระวังทุกครั้งที่ใช้
71. บรรจุภัณฑ์ถนอมอาหาร
มีอาหารไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ที่ต้องอาศัยบรรจุภัณฑ์ ที่ช่วยในการถนอมอาหารเพื่อรักษาความกรอบของอาหารบรรจุภัณฑ์จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการห่อหุ้มอาหาร
72. บรรจุภัณฑ์ที่ฟุ่มเฟือย
ปัจจุบันบรรจุภัณฑ์ได้ถูกนำมาใช้อย่างฟุ่มเฟือยจนเกินความจำเป็น และได้กลายเป็นขยะจำนวนมหาศาล ฉะนั้นโปรดช่วยกันลดขยะจากบรรจุภัณฑ์ด้วยการไม่ซื้อสินค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์ฟุ่มเฟือย เกินความจำเป็น
73. ผลิตภัณฑ์เข้มข้นช่วยลดขยะบรรจุภัณฑ์ได้
ผลิตภัณฑ์บางชนิดที่พัฒนาการผลิตให้เข้มข้น ซึ่งผู้บริโภคสามารถนำไปเจือจางก่อนใช้เป็นการช่วยลดปริมาณขยะจากบรรจุภัณฑ์ได้
74. ใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษแทนการใช้พลาสติกและโฟม
ปัจจุบันมีการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นกระดาษ เพื่อใช้บรรจุอาหารแทนบรรจุภัณฑ์พลาสติกและโฟม เช่น กล่องบรรจุน้ำผลไม้ นม เป็นต้น
75. บรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้
ควรเลือกซื้อสินค้าที่บรรจุในภาชนะที่สามารถนำกลับไปผลิตใช้ได้ใหม่ ดีกว่าบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ได้เพียงครั้งเดียวแล้วต้องทิ้ง
76. ควรเลือกซื้อสินค้าที่บรรจุกระป๋องอลูมิเนียมและแก้ว
ควรเลือกซื้อสินค้าที่บรรจุในกระป๋องอลูมิเนียมหรือแก้ว แทนสินค้าที่บรรจุในภาชนะพลาสติกและโฟม เพราะอลูมิเนียมและแก้วสามารถนำกลับไปผลิตใช้ได้ใหม่อีก
77. การเลือกซื้อ
ไม่ควรเลือกซื้อสินค้าที่ถูกบรรจุหรือหุ่มหุ้มด้วยบรรจุภัณฑ์ ที่ฟุ่มเฟือยมากเกินไป
78. ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชนิดเข้มข้น
ควรซื้อผลิตภัณฑ์ชนิดเข้มข้นแล้วนำไปเจือจางเอง โดยการเติมน้ำก่อนใช้เป็นการประหยัดภาชนะบรรจุได้
79. ซื้อสินค้าเท่าที่จำเป็น
ควรเลือกซื้อสินค้าเท่าที่ต้องการและใช้ให้หมด
80. สินค้าปลอดสารพิษ
ควรเลือกซื้อสินค้าที่ปลอดสารพิษเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของชีวิตและสุขภาพร่างกายของตัวท่านเอง
81. คุณสมบัติของสารละลาย
สารละลายเป็นสารที่มีคุณสมบัติในการละลายวัตถุอื่น ๆ โดยปรกติแล้วสารละลายนี้จะอยู่ในรูปของเหลว เช่น ผสมอยู่ในทินเนอร์ที่ใช้ผสมสีและอยู่ในแลคเกอร์
82. วิธีป้องกันอันตรายจากสารละลาย
ส่วนประกอบของสารเคมีในสารละลาย เป็นอันตรายโดยตรงต่อดวงตา ผิวหนังและปอด
ทุกครั้งที่ต้องใช้สารละลายควรจะต้องแต่งกายด้วยเสื้อแขนยาว สวมถุงมือ ใส่แว่นตา และใช้สารละลายในที่ที่เปิดโล่งเท่านั้น
83. ในห้องปรับอากาศควรระบายอากาศ
ในห้องปรับอากาศควรเปิดหน้าต่างให้อากาศระบายได้ในบางช่วง และควรเปิดพัดลมดูดอากาศด้วยทุกครั้งที่เปิดแอร์
84. ผลิตภัณฑ์อันตรายไม่ควรทิ้งลงแม่น้ำ
ผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายได้แก่ผลิตภัณฑ์ที่ติดไฟ น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำยาละลายสี ผลิตภัณฑ์ที่เป็นกรด น้ำยาทำความสะอาด ผลิตภัณฑ์ที่เป็นพิษ เช่น ยากำจัดศัตรูพืช เมื่อใช้แล้วต้องมีวิธีกำจัดที่ถูกต้องและต้องไม่ทิ้งลงแม่น้ำ
85. สารอันตรายไดออกซิน
สารพิษที่มีอันตรายมากที่สุดที่เป็นส่วนประกอบของยาฆ่าแมลงคือ ไดออกซิน ไดออกซินแม้เพียงจำนวนเล็กน้อย ก็เป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งได้ จึงไม่ควรใช้ยากำจัดศัตรูพืชที่มีส่วนผสมของไดออกซิน
86. อันตรายจากเบนซิน
เบนซินเป็นตัวทำละลายที่มีพิษต่อร่างกายที่รุนแรงที่สุด คือ เป็นต้นเหตุของการป่วยเป็นโรคลูคีเมียและทำลายไขกระดูก
87. ช่วยกันปลูกต้นไม้อีก 5 เท่าจึงจะเพียงพอ
ในปริมาณการใช้ไม้และจำนวนพื้นที่ป่าไม้ที่ลดลง ในปัจจุบันนั้นสามารถแก้ไขได้ด้วยการปลูกต้นไม้โตเร็วมากกว่าที่ปลูกอยู่ในปัจจุบันมากถึง 5 เท่า จึงจะเพียงพอกับการใช้ประโยชน์ในอนาคต
88. ไฮโดรเจนคือพลังงานทดแทน
ไฮโดรเจนเป็นพลังงานทดแทนที่ได้มาจากการแยกละลายสาร เช่น ไฟฟ้าจากน้ำ ไฮโดรเจนจัดเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาดและไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศด้วย
89. รถยนต์พลังงานไฟฟ้า
โลกได้ผลิตรถยนต์ชนิดใหม่เพื่อลดมลพิษให้กับท้องถนน รถยนต์ที่ผลิตขึ้นใหม่นี้ขับเคลื่อนโดยขบวนการเปลี่ยนไฮโดรเจนเหลว ให้เป็นพลังงานไฟฟ้าโดยไม่ต้องผ่านขบวนการเผาไหม้
90. ลักษณะของรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนเหลว
รถยนต์พลังงานไฮโดรเจนเหลวนี้มีลักษณะเดียวกับรถไฟฟ้า แต่แตกต่างกันตรงที่มีถังเก็บไฮโดรเจนเหลวแทนแบตเตอรี่ ปัจจุบันพลังงานไฮโดรเจนเหลวกำลังได้รับการพัฒนารูปแบบเพื่อที่จะนำมาใช้บนท้องถนนแล้ว
91. รถยนต์พลังงานไฮโดรเจนเหลวไม่ก่อมลพิษ
รถยนต์พลังงานไฮโดรเจนเหลวไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสภาพแวดล้อม เพราะไฮโดรเจนเหลวที่ใช้กับตัวรถได้มาจากแหล่งที่สะอาด
92. หลอดไฟฟ้าฟลูออเรสเซนต์
หลอดไฟฟ้าฟลูออเรสเซนต์เป็นหลอดไฟฟ้าที่สามารถประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้ถึง 75% และมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าหลอดแบบขดลวดถึง 10 เท่า
93. วิธีลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้กับโลก
หากเราเผาถ่านให้น้อยลงและเผาพลาญน้ำมันให้น้อยลง ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกขึ้นกับโลกก็จะลดน้อยลง
94. ขยะกระดาษ
ทุก ๆ อาทิตย์เราทิ้งกระดาษลงตระกร้าขยะมากถึง 1,000 ตัน แต่มีเพียงไม่ถึงร้อยละ 10 ที่กระดาษเหล่านั้นถูกนำกลับมาผลิตใช้ได้ใหม่อีก
95. อันตรายจากสีทาบ้าน
ในสีน้ำมันที่ใช้ทาบ้านนั้นมีส่วนประกอบของแคดเมี่ยมและไททาเนี่ยมออกไซด์ ไฮโดรคาร์บอนซึ่งเป็นสารที่มีอันตราย
ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายจากสารอันตรายควรใช้สีน้ำในการทาสีบ้าน
96. การเติมลมยางรถช่วยประหยัดน้ำมัน
ในการบำรุงรักษารถ การเติมยางรถที่พอดีจะช่วยในการประหยัดน้ำมันได้
การเติมลมยางรถถ้าเติมอ่อนเกินไปจะทำให้สิ้นเปลืองน้ำมันเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 5 ตามการหมุนรอบของวงล้อที่เพิ่มขึ้น
97. เติมลมยางรถช่วยยืดอายุยางรถยนต์
การเติมลมยางรถยนต์ที่พอเหมาะพอดียังช่วยยืดอายุการใช้งาน ช่วยป้องกันไม่ให้ยางรถยนต์ฉีกขาดได้ง่ายจากสาเหตุที่เติมลมอ่อนหรือแข็งเกินไปอีกด้วย
98. เตาไมโครเวฟประหยัดไฟกว่าเตาอบ
การใช้เตาไมโครเวฟ จะช่วยประหยัดพลังงานจากไฟฟ้ามากกว่าเตาอบถึง 1-2 เท่า
99. ถ่านไฟฉายที่ชาร์ตไฟใหม่ได้ประหยัดกว่าถ่านไฟฉายธรรมดา
ถ่านไฟฉายที่ชาร์ตไฟได้ใหม่นั้นแม้จะมีส่วนประกอบของแคดเมี่ยม แต่ก็มีอายุการใช้งานได้นานกว่าถ่านไฟฉายแบบธรรมดาถึง 500 เท่า และช่วยลดปริมาณการใช้ถ่านธรรมดาได้มากที่สุด
100. อันตรายจากน้ำยาปรับอากาศ
ในน้ำยาปรับอากาศแอร์รีเฟรชเชอเนอร์นั้น มีส่วนประกอบของสารเคมีประเภทอเทอนอล ไซลีน ซึ่งเป็นสารที่เป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์
100 คำถามสิ่งแวดล้อม |
1. สิ่งแวดล้อมคืออะไร ?
สิ่งแวดล้อมคือทุกสิ่งทุกอย่างทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ที่อยู่ล้อมรอบตัวเรา และส่งผลต่อเราทั้งมีชีวิตและไม่มีชีวิต ทั้งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เช่น แสดแดดจากดวงอาทิตย์ อากาศที่เราหายใจ ทะเล ป่าไม้ สัตว์และพืช และที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น อาคารสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ
2. คุณภาพสิ่งแวดล้อมหมายความว่าอย่างไร ?
คุณภาพสิ่งแวดล้อมหมายถึงดุลยภาพของธรรมชาติ อันได้แก่ สัตว์ พืช และทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ และสิ่งที่มนุษย์ได้ทำขึ้น ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ต่อการดำรงชีพของประชาชน และความสมบูรณ์สืบไปของมนุษยชาติ
3. เขตอนุรักษ์คืออะไร ?
เขตอนุรักษ์ หมายความถึงเขตอุทยานแห่งชาติ เขตสงวนเพื่อการท่องเที่ยวและเขตพื้นที่คุ้มครองอย่างอื่นเพื่อสงวนและรักษาสภาพธรรมชาติ ตามที่กฎหมายกำหนด
4. พื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมหมายความว่าอะไร ?
พื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมหมายถึง พื้นที่ใดก็ตามที่มีลักษณะเป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธาร หรือมีระบบนิเวศน์ตามธรรมชาติที่แตกต่างจากพื้นที่อื่นโดยทั่วไป หรือมีระบบนิเวศน์ตามธรรมชาติ ที่อาจถูกทำลายหรืออาจได้รับความกระทบกระเทือน จากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ ได้โดยง่าย หรือเป็นพื้นที่ ที่มีคุณค่าทางธรรมชาติ หรือสมบัติอันควรแก่การอนุรักษ์
5. นิเวศวิทยาคืออะไร ?
นิเวศวิทยาคือ การศึกษาเกี่ยวกับวิธีการที่พืชและสัตว์พึ่งพาสิ่งแวดล้อมของมันและพึ่งพาซึ่งกันและกันเพื่อความอยู่รอด ตัวอย่างเช่น ต้นไม้ต้องการแสงอาทิตย์ อากาศ น้ำและดิน เพื่อการเติบโต เมื่อต้นไม้ทิ้งใบลงสู่ดิน ใบไม้ทั้งหลายก็จะถูกย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์ ให้กลับกลายไปเป็นธาตุอาหารให้กับดินต่อไป
6. ระบบนิเวศคืออะไร ?
ระบบนิเวศคือ ระบบความผูกพันของสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อม ในระบบนิเวศหนึ่ง ๆ จะประกอบด้วยสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต ในพื้นที่เฉพาะแห่งที่ต้องพึ่งพากันและกัน ตั้งแต่ห่วงโซ่ อาหารการค้ำจุนชีวิต เช่น ระบบนิเวศป่าของป่าไม้ ระบบนิเวศของทะเล เป็นต้น
7. ห่วงโซ่อาหารคืออะไร ?
ห่วงโซ่อาหารคือ ระบบของการเป็นอาหารให้กันและกันของสิ่งมีชีวิตซึ่งในกระบวนการดังกล่าว พลังงานจะผ่านจากสิ่งมีชีวิตหนึ่งไปอีกชีวิตหนึ่ง เช่น พืชสีเขียวผลิตอาหารโดยการสังเคราะห์แสงจากดวงอาทิตย์ จากนั้น พืชสีเขียวก็จะเป็นอาหารให้แก่สัตว์ที่กินพืชเป็นอาหารและสัตว์ที่กินพืชเป็นอาหารก็จะเป็นอาหารให้กับสัตว์ที่กินสัตว์เป็นอาหารต่อไป
8. มลพิษหมายความถึงอะไร ?
มลพิษหมายถึง ของเสีย วัตถุอันตราย และมลสารอื่น ๆ รวมทั้งกากตะกอนหรือสิ่งตกค้างจากสิ่งเหล่านั้น ที่ถูกปล่อยทิ้งจากแหล่งกำเนิดมลพิษหรือที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมตาม ธรรมชาติ ซึ่งก่อให้เกิด หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม หรือภาวะที่เป็นภัย อันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน และหมายความรวมถึงรังสีความร้อน แสง เสียง กลิ่น ความสั่นสะเทือนหรือเหตุรำคาญอื่น ๆ ที่เกิดหรือถูกปล่อยออกมาจากแหล่งกำเนิดมลพิษ ด้วย
9. ภาวะมลพิษคืออะไร ?
ภาวะมลพิษคือ สภาวะที่สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงหรือปนเปื้อนโดยมลพิษ ซึ่งทำให้ คุณภาพของสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลง เช่น มลพิษทางน้ำ มลพิษทางอากาศ มลพิษในดิน
10. แหล่งกำเนิดมลพิษหมายความว่าอย่างไร ?
10. แหล่งกำเนิดมลพิษหมายความถึงชุมชนโรงงานอุตสาหกรรม อาคารสิ่งก่อสร้าง ยานพาหนะ สถานที่ประกอบกิจการใด ๆ หรือสิ่งอื่นใดซึ่งเป็นแหล่งที่มาของมลพิษ
11. สารพิษที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อมเกิดจากอะไร ?
สารพิษที่ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม เป็นสารพิษที่มาจากโรงงานอุตสาหกรรม จากการ เกษตรกรรม จากสารปรุงแต่งอาหาร ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของร่างกาย
12. อันตรายของสารพิษเกิดจากอะไร ?
อันตรายจากสารพิษเกิดจาก โมเลกุลของสารพิษซึ่งมีขนาดเล็กมากและสามารถละลายน้ำได้ง่าย จึงสามารถดูดซึมผ่านลำไส้ข้าสู่กระแสเลือด และถูกนำพาไปยังเนื้อเยื่อทุกส่วนของร่างกายให้ไปสะสมอยู่ในส่วนต่าง ๆ ของเซลในร่างกาย
13. ภาวะอันตรายของสารพิษในร่างกายเกิดขึ้นเมื่อใด ?
ภาวะอันตรายของสารพิษในร่างกายเกิดขึ้นเมื่อโมเลกุล ของสารพิษเกิดการรวมตัวกับโครโมโซมในร่างกายของมนุษย์ ทำให้การขับออกจากร่างกายเป็นไปได้ยากทำให้เกิดความเป็น พิษขึ้นกับกับอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย
14. ของเสียคืออะไร ?
ของเสียคือ ขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล น้ำเสีย อากาศเสีย มลสารหรือวัตถุอันตรายอื่นใด ซึ่งถูกปล่อยทิ้งหรือมีที่มาจากแหล่งกำเนิดมลพิษรวมทั้งกาก ตะกอน หรือสิ่งตกค้างจากสิ่งเหล่านั้นมีทั้งที่อยู่ในสภาพของแข็ง ของเหลว หรือก๊าซ
15. เราช่วยลดภาวะของเสียได้หรือไม่ ?
เราสามารถช่วยลดภาวะของเสียได้ โดยปฏิบัติตาม 3R ซึ่งเป็นแนวทางอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ ดังนี้
R1 คือ การลดการใช้ (Reducing)
R2 คือ การใช้อีก (Reusing)
R3 คือ การนำของเสียกลับมาผลิตใช้ใหม่ (Recycling)
16. R1 การลดการใช้คืออะไร ?
R1 (Reducing) หมายถึง การใช้ให้น้อยลง หากเราพยายามใช้ของที่ทำให้เกิดขยะน้อยลง ก็เท่ากับเราได้เริ่มต้นช่วยฟื้นฟูธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
17. R2 การใช้อีก คืออะไร ?
การใช้อีก (Reusing) คือการนำของที่ใช้แล้วและจะทิ้ง มาดูว่าจะดัดแปลงใช้ประโยชน์ทำอะไรได้บ้าง เช่น กล่อง กระดาษแข็ง ขวดกาแฟ ถุงใส่ของ ซองใส่เอกสาร
18. R3 การนำของเสียกลับมาผลิตใช้ใหม่คืออะไร ?
การนำของเสียกลับมาผลิตใช้ใหม่ (Recycling) คือกระบวนการผลิตของเสีย เพื่อนำ กลับมาใช้อีก เช่น กระเบื้อง อลูมิเนียม กระจก กระดาษ พลาสติก ซึ่งเป็นวิธีลดขยะ ลดการใช้พลังงาน และลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมหาศาลให้กับโลก
19. เครื่องหมาย หมายถึงอะไร ?
เครื่องหมาย เป็นเครื่องหมายที่แสดงว่า ผลิตภัณฑ์นั้น ๆ เคยใช้แล้วนำกลับมาผลิตใช้ใหม่หรือเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่เมื่อใช้แล้วสามารถนำกลับมาผลิตใช้ได้ใหม่อีก
20. อะไรบ้างที่นำกลับมาผลิตใช้ใหม่ได้ ?
สิ่งของเครื่องใช้ที่ใช้แล้วนำกลับมาผลิตใช้ใหม่ได้ ได้แก่ แก้ว พลาสติก อลูมิเนียม กระดาษ
21. ในร่างกายของมนุษย์มีน้ำอยู่เท่าใด ?
ในร่างกายของมนุษย์มีน้ำอยู่ประมาณ 65% ในแอปเปิ้ลมีน้ำอยู่ถึง 80% และในมะเขือเทศและแตงโมมีน้ำอยู่เป็นปริมาณมากถึง 90%
22. น้ำมีคุณลักษณะที่แตกต่างกันกี่สถานะ ?
น้ำมีคุณลักษณะที่แตกต่างกัน 3 สถานะ คือ
n น้ำในสถานะที่เป็นของเหลวได้แก่น้ำในแม่น้ำลำธาร ห้วย หนอง คลองบึง ทะเล
n น้ำในสถานะที่เป็นของแข็งได้แก่ น้ำแข็ง หิมะ และลูกเหน็บ
n น้ำในสถานะที่เป็นก๊าซได้แก่ไอน้ำ ที่ลอยอยู่ในอากาศ
23. วัฏจักรของน้ำคืออะไร ?
วัฏจักรของน้ำคือกระบวนการหมุนเวียนของน้ำตามระบบธรรมชาติ ที่เกิดต่อเนื่องกันโดยไม่มีจุดจบตั้งแต่การระเหยเป็นไอน้ำ การกลั่นตัวของไอน้ำ การรวมตัวเป็นก้อนเมฆ และตกลงมาสู่พื้นโลกของฝนหิมะ และลูกเห็บ
24. คุณสมบัติที่สำคัญของน้ำคืออะไร ?
คุณสมบัติที่สำคัญของน้ำคือการเป็นตัวทำละลายสารอื่น ๆ คือน้ำสามารถละลายสิ่งต่าง ๆ ให้กลายเป็นองค์ประกอบในตัวมันเองได้ น้ำจึงเป็นทรัพยากรธรรมชาติ ที่สะสมธาตุอาหารต่าง ๆ ไว้ในตัวมากที่สุด
25. น้ำ สูญหายไปจากโลกหรือไม่ ?
น้ำไม่เคยสูญหายไปจากโลก นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าปริมาณน้ำที่มีอยู่ในโลก ในปัจจุบันมีเท่ากับปริมาณน้ำที่มีอยู่ในโลกเมื่อ 6000 ปีที่แล้ว อันเป็นช่วงเวลาของการเกิดอารยธรรมลุ่มน้ำไทกริส-ยูเฟรติส เพียงแต่ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นกับปริมาณน้ำ ณ ที่ต่าง ๆ ขึ้น เช่น ที่หนึ่งปริมาณน้ำอาจเพิ่มขึ้น ขณะที่อีกที่หนึ่งปริมาณน้ำอาจลดลง
26. อะไรเป็นสาเหตุให้ปริมาณน้ำแต่ละที่ไม่คงที่ ?
ความเปลี่ยนแปลงผันแปรของภูมิอากาศ ทำให้การคืนกลับของน้ำ ณ บริเวณหนึ่ง ๆ ไม่คงที่และไม่สม่ำเสมอ คือ ทำให้อัตราส่วนการคืนกลับไม่เท่ากับอัตราส่วน ที่ได้ระเหยไปจากบริเวณผิวโลก ณ ที่นั้น
27. ความผันแปรของภูมิอากาศทำให้เกิดอะไรขึ้นกับโลก ?
ความผันแปรของภูมิอากาศ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล การเกิดอุทกภัย และสภาวะความแห้งแล้งในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก
28. เขื่อนสร้างขึ้นเพื่ออะไร ?
เขื่อนสร้างขึ้นเพื่อกักเก็บน้ำ ณ บริเวณพื้นที่ต้นน้ำเพื่อไม่ให้น้ำไหลบ่าไปจนหมดในหน้าฝน และเพื่อปล่อยน้ำลงมาใช้ประโยชน์ในฤดูแล้ง นอกจากนี้ยังช่วยเปลี่ยนแปลงทิศทางการ ไหลของน้ำให้ไหลเข้าสู่พื้นที่ที่ต้องการใช้ประโยชน์ได้ตามที่ต้องการ
29. น้ำทิ้งคืออะไร ?
น้ำทิ้งคือน้ำโสโครกที่ผ่านการใช้ประโยชน์แล้วจากกิจกรรมทั้งหลายของมนุษย์ เช่น น้ำทิ้งจากบ้านเรือน ภัตตาคาร ร้านอาหาร โรงแรม และโรงงานอุตสาหกรรม
30. น้ำทิ้งจากโรงงานมีอันตรายหรือไม่ ?
น้ำทิ้งจากโรงงานเป็นน้ำโสโครกที่มีอันตรายเพราะมีกากสารพิษได้แก่ โลหะหนัก น้ำมัน และสารละลายเจือปนอยู่
31. สารอินทรีย์คืออะไร ?
สารอินทรีย์คือ สารที่ประกอบด้วยไขมัน น้ำมัน และโปรตีน
32. สารอินทรีย์ทำให้เกิดอะไรขึ้นกับน้ำ ?
สารอินทรีย์เป็นสิ่งปฏิกูลตัวสำคัญที่ทำให้เกิดความเน่าเสีย ขึ้นกับแหล่งน้ำทำให้น้ำเน่า มีกลิ่น หรือมีสีดำคล้ำ
33. จุลินทรีย์คืออะไร ?
จุลินทรีย์ คือ ชีวิตเล็ก ๆ ที่อยู่ในน้ำ หน้าที่ของจุลินทรีย์ก็คือการย่อยสลายสารอินทรีย์ โดยการใช้ออกซิเจนเข้ามาช่วย ดังนั้น ปริมาณสารอินทรีย์ในน้ำยิ่งเพิ่มขึ้นเท่าใด จุลินทรีย์ก็ จะดึงออกซิเจนมาช่วยในการย่อยสลายมากขึ้นเท่านั้น และการนำเอาออกซิเจนมาใช้มากเกินไป ทำให้แหล่งน้ำนั้น ๆ ขาดแคลนออกซิเจน กลายเป็นแหล่งน้ำเสีย
34. บีโอดีคืออะไร ?
บีโอดี เป็นคำศัพท์ที่ย่อมาจากคำว่า Biochemical Oxyen Demand เป็นค่าที่ใช้ในการตรวจวัดคุณภาพน้ำ โดยใช้ปริมาณของความสกปรกของน้ำทิ้งเป็นตัววัด
35. ค่าบีโอดีได้จากอะไร ?
ค่าของบีโอดีจะแสดงถึงปริมาณของออกซิเจนที่ละลายอยู่ในน้ำ ถ้าน้ำทิ้งมีสารอินทรีย์สูง มีปริมาณของออกซิเจนที่ถูกจุลินทรีย์ดึงไปใช้ ในการย่อยสลายก็สูงค่าบีโอดีน้ำนั้นก็จะสูงด้วย
36. ค่าบีโอดีบอกถึงอะไร ?
ค่าบีโอดีบอกถึงความเน่าเสียของน้ำ นั่นคือค่าบีโอดียิ่งสูงก็หมายถึงความเน่าเสียของน้ำในแหล่งน้ำนั้นยิ่งมากขึ้นด้วย
37. การรั่วไหลของน้ำมันในทะเลเกิดจากสาเหตุอะไร ?
การรั่วไหลของน้ำมันในทะเล บางครั้งเกิดจากการรั่วไหลซึมของบ่อน้ำมันหรือท่อน้ำมัน หรือจากเรือบรรทุกน้ำมัน เมื่อรั่วไหลลงสู่ทะเลแล้ว น้ำมันก็จะกระจายแผ่เป็นแผ่นบางๆ ปกคลุมพื้นผิวน้ำ
38. อันตรายที่เกิดจากคราบน้ำมันคืออะไร ?
คราบน้ำมันจะเกาะจับบนปีกนก ที่บินโฉบลงมาหากินในทะเล ทำให้ปีกของนกเหนียวหนืด แผ่กางปีกออกบินไม่ได้ นอกจากนี้บางครั้งคราบน้ำมันก็เข้าไปอุดตันในเหงือกปลาทำให้ปลาหายใจไม่ได้ และบางส่วนของน้ำมันก็จะซึมลงไปในฟองไข่ของสัตว์น้ำที่ลอยอยู่บนผิวน้ำ ทำให้ตัวอ่อนในไข่ตาย
39. การบำบัดน้ำเสียคืออะไร ?
การบำบัดน้ำเสียคือกระบวนการฟื้นฟูคุณภาพความสะอาด ให้กับน้ำที่ผ่านการใช้มาแล้ว
40. การบำบัดน้ำเสียมีกี่ประเภท?
มี 4 ประเภทคือ
1. การบำบัดน้ำเสียโดยกระบวนการทางกายภาพ
2. การบำบัดน้ำเสียโดยกระบวนการทางเคมี
3. การบำบัดน้ำเสียโดยกระบวนการทางชีววิทยา
4. การบำบัดน้ำเสียโดยกระบวนการทางฟิสิกส์เคมี
41. ในอากาศบริสุทธิ์มีส่วนผสมของก๊าซไนโตรเจนอยู่เท่าใด ?
ในอากาศบริสุทธิ์นั้นมีส่วนผสมของก๊าซไนโตรเจนอยู่ร้อยละ 78
42. ก๊าซไนโตรเจนสำคัญต่อโลกอย่างไร ?
ก๊าซไนโตรเจนเป็นตัวช่วยเจือจางก๊าซออกซิเจน ให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสมต่อการหายใจของสิ่งมีชีวิตและช่วยให้เกิดชั้นโอโซน เพื่อช่วยปกป้องโลกจากรังสีอุลตร้าไวโอเลต
43. เมฆหมอก ไอน้ำ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สำคัญต่อโลกอย่างไร ?
เมฆหมอก ไอน้ำ และก๊าซคาร์ไดออกไซด์ ช่วยทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิบริเวณพื้นผิวโลก ให้อยู่ในภาวะที่สมดุลย์ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน
44. อะไรเป็นสาเหตุให้โลกร้อนขึ้น ?
โลกร้อนขึ้นเพราะการเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นจำนวนมากในชั้นบรรยากาศ
45. อะไรเป็นสาเหตุให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น ?
ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น เนื่องจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงจากกิจกรรมทั้งหลายของมนุษย์ อาทิ การเผาไหม้เชื้อเพลิงและถ่านหิน การเผายังทำให้เกิด ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จำนวนมากลอยขึ้นไปสะสม เพิ่มขึ้นในชั้นบรรยากาศ และกลายเป็นตัวสกัดกั้น ความร้อนจากโลกไม่ให้กระจายออกไปทำให้โลกร้อนขึ้น
46. โอโซนคืออะไร?
ก๊าซที่พบอยู่ในบรรยากาศชั้นสตราโทสเฟียร์ ซึ่งอยู่สูงจากผิวโลกประมาณ 20-60 กิโลเมตร
47. โอโซนเกิดขึ้นได้อย่างไร ?
โอโซนเป็นก๊าซที่เกิดจากการที่รังสีอุลตร้าไวโอเลตจากดวงอาทิตย์ ส่องมากระทบกับโมเลกุลของออกซิเจนในบรรยากาศชั้นสตราโทสเฟียร์ ทำให้อะตอมของออกซิเจนแตกตัวเป็นอะตอมอิสระเมื่ออะตอมอิสระนี้รวมตัวเข้ากับโมเลกุล ของออกซิเจนที่ยังไม่แตกตัว ก็เกิดกลายเป็นโมเลกุลใหม่เกิดเป็นก๊าซโอโซนขึ้น
48. ก๊าซโอโซนมีความสำคัญต่อโลกอย่างไร ?
ก๊าซโอโซนมีคุณสมบัติพิเศษในการสามารถดูดซึมซับ รังสีอุลตร้าไวโอเลต ไม่ให้ส่องกระทบโดยตรงยังพื้นผิวโลก หน้าที่ของโอโซนจึงคล้ายเป็นหลังคาให้กับโลก
49. มีโอโซนอยู่มากน้อยเท่าใดในบรรยากาศ ?
ในความสมดุลย์ของธรรมชาตินั้น โอโซนเป็นก๊าซที่มีปริมาณน้อยมาก + ในชั้น บรรยากาศโลกประมาณกันว่า มีความหนาเพียง 3 มิลลิเมตรเท่านั้น
50. โอโซนมีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตอย่างไร ?
โฮโซนเป็นก๊าซที่ช่วยปกป้องสิ่งมีชีวิตทุกชีวิต ให้รอดพ้นจากการถูกเผาทำลายจากความร้อนแรงของรังสีอุลตร้าไวโอเลต
51. สารซีเอฟซีคืออะไร ?
สารซีเอฟซี คือ ชื่อย่อของสารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน ซึ่งเป็นสารเคมีที่มนุษย์คิดค้นและผลิตขึ้นใช้เป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1930
52. สารซีเอฟซี ใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง ?
คุณประโยชน์ของสารซีเอฟซี ก็คือใช้เป็นสารทำความเย็นในตู้เย็นและในระบบความ เย็นต่าง ๆ เช่น เครื่องปรับอากาศ น้ำยาดับเพลิง น้ำยาซักแห้งและใช้เป็นก๊าซขับดันใน กระป๋องสเปรย์
53. ทำไมสารซีเอฟซีจึงเป็นก๊าซอันตราย ?
ซีเอฟซี เป็นสารที่มีความคงตัวสูงมาก ดังนั้นมันจึงสลายตัวได้ช้าที่สุดและจึงทำให้สารซีเอฟซีกลายเป็นสารมหาภัยของโลก
54. สารซีเอฟซี ก่อให้เกิดอันตรายได้อย่างไร ?
เมื่อสารซีเอฟซี ถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศ มันก็จะลอยขึ้นไปถึงชั้นสตร้าโทสเฟียร์ ณ ที่นั้นรังสีอุลตร้าไวโอเลตได้ทำให้ซีเอฟซีแตกตัวออก และปล่อยอะตอมของคลอรีนออกมา อะตอมของคลอรีนนี้ก็ไปดึงอะตอมของออกซิเจน จากโมเลกุลของโอโซนออกมาเพื่อสร้างสารชนิดใหม่ชื่อคลอรีนมอนอกไซด์ ดังนั้น ยิ่งสารซีเอฟซีเพิ่มมากขึ้นเท่าใดอะตอมของโอโซนก็จะถูกทำลายลงมากขึ้นด้วย
55. รังสีอุลตร้าไวโอเลตคืออะไร ?
รังสีอุลตร้าไวโอเลต เป็นรังสีที่เกิดมาจากดวงอาทิตย์เป็นรังสีที่ไม่สามารถมองเห็นได้ ในปริมาณที่พอเหมาะ รังสีอุลตร้าไวโอเลตจะมีประโยชน์ช่วยให้ร่างกายได้รับวิตามินดี แต่ หากมีปริมาณมากเกินไปจะทำให้เป็นอันตรายต่อผิวหนัง เช่น ทำให้ผิวหนังอักเสบเป็นมะเร็ง ที่ผิวหนังและเป็นอันตรายกับดวงตา
56. เชื้อเพลิงฟอสซิสคืออะไร ?
เชื้อเพลิงฟอสซิล คือ เชื้อเพลิงที่เกิดจากซากของสิ่งมีชีวิตภายใต้กระบวนการตามธรรมชาติ ณ ใต้พื้นพิภพเป็นเวลาหลายล้านปีมาแล้ว
57. กระแสไฟฟ้าที่ใช้ในโลกส่วนใหญ่ได้มาจากไหน ?
กระแสไฟฟ้าที่ใช้ในโลกส่วนใหญ่ผลิตมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งส่วนใหญ่ คือ ถ่านหิน
58. การเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล ทำให้เกิดอะไรขึ้นกับโลก ?
การเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และกิจการอุตสาหกรรมทั้งหลายนั้น ได้ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กระทบออกสู่บรรยากาศเป็นปริมาณมากในทุก ๆ ปี
59. เพราะเหตุใด การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลจึงมีผลทำให้เกิดปรากฎการณ์เรือนกระจกขึ้น ?
เพราะน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงฟอสซิล เมื่อถูกเผาผลาญก็จะทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้น และการเพิ่มของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ทำให้เกิดปรากฎการณ์เรือนกระจกขึ้นกับโลก
60. คาร์บอนคืออะไร ?
คาร์บอนเป็นธาตุที่สำคัญมากที่สุดธาตุหนึ่ง ในองค์ประกอบของสิ่งมีชีวิตโดยเฉพาะในร่างกายของมนุษย์นั้น องค์ประกอบครึ่งหนึ่งของสสารที่เป็นของแข็งคือส่วนที่เป็นคาร์บอน
61. ในต้นไม้มีส่วนประกอบของธาตุคาร์บอนอยู่เท่าใด ?
ในต้นไม้ต้นหนึ่งๆ จะมีส่วนประกอบที่เป็นธาตุคาร์บอนอยู่ถึง 90 ส่วน
62. การหมุนเวียนของธาตุคาร์บอนเกิดขึ้นอย่างไร ?
เมื่อใดก็ตามที่สิ่งมีชีวิตตายลง ต้นไม้ถูกโค่นและเผา ธาตุคาร์บอนที่สะสมอยู่ในร่างกายของสิ่งมีชีวิตและในเนื้อไม้ ก็จะกลับคืนสู่อากาศในรูปของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
63. สารมลพิษในอากาศที่สำคัญมีอะไรบ้าง ?
สารมลพิษ ในอากาศที่สำคัญที่มีอันตรายต่อมนุษย์โดยตรง ได้แก่ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ ไฮโดรคาร์บอนและตะกั่ว
64. ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์เกิดขึ้นได้อย่างไร ?
ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์เกิดจากการเผาไหม้ถ่านหิน การผลิตน้ำมันปิโตรเลียม กิจกรรมที่ปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ขึ้นสู่อากาศมากที่สุด คือการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล
65. ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์เกิดขึ้นได้อย่างไร ?
ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์เกิดจากการย่อยสลายของสารอินทรีย์ จากกระบวนการผลิตไฟฟ้าจากโรงงานอุตสาหกรรมและจากรถยนต์
66. ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ มีอันตรายต่อร่างกายอย่างไร ?
ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะทำลายเนื้อเยื่อปอด และเป็นสาเหตุของโรคระบบทางเดินหายใจ
67. ฝนกรดเกิดขึ้นได้อย่างไร ?
เมื่อใดก็ตามที่ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ได้สัมผัสกับความชื้นในบรรยากาศก็จะเกิดปฏิกิริยากลายเป็นกรดซัลฟูริคและกรดไนตริค ถ้าความชื้นไม่มากนักก็จะเป็นกรดที่แห้งและมีขนาดเล็ก แต่ในความชื้นสูงจะทำให้เกิดเป็นฝนกรดตกลงสู่พื้นโลก เป็นอันตรายต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม
68. มลพิษทางอากาศในอาคารบ้านเรือนเกิดขึ้นได้อย่างไร ?
มลพิษทางอากาศในอาคารบ้านเรือนเกิดขึ้น เนื่องจากการขาดการระบายถ่ายเทของอากาศ อากาศจะบริสุทธิ์และสมดุลย์ได้ก็ด้วยการถ่ายเทและการเคลื่อนที่ การปิดกั้นอากาศจะ ทำให้อากาศสะสมมลพิษไว้และส่งผลถึง ผู้ที่อาศัยอยู่ในอาคารบ้านเรือนนั้น ๆ
69. ความสมดุลย์ของความร้อนในร่างกายมนุษย์คืออะไร ?
ความสมดุลย์ของความร้อนในร่างกายมนุษย์ คือการถ่ายเทความร้อนระหว่างร่างกายกับสิ่งแวดล้อม และความสมดุลย์ของความร้อนในร่างกายมนุษย์ เกิดขึ้นเมื่อความร้อนที่ร่างกายได้รับมีค่าเท่ากับความร้อนที่ถูกปล่อยออกจากร่างกาย
ที่มา : http://www.school.net.th/library/snet6/envi2/subwater/sub.htm